ข่าวและกิจกรรม

'TIFF2012'ขนเฟอร์ฯช่วยน้ำท่วม
2555-03-09

นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 14-18 มีนาคม ศกนี้ กรมส่งเสริมการส่งออก ได้ร่วมกับกลุ่มอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องเรือนไทย จัดงานแสดงสินค้าเฟอร์นิเจอร์ 2555 หรือ "TIFF 2012" ณ ศูนย์แสดงสินค้าไบเทค บางนา ภายใต้คอนเซ็ปต์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม Fill Green Feel Good โดยมีผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศร่วมงานแสดงสินค้า 220 บริษัท 830 บูธ

   ทั้งนี้งานTIFF2012  แบ่งเป็นวันเจรจาการค้า 3 วันคือระหว่างวันที่ 14-16 มีนาคม 2555 และวันจำหน่ายปลีกระหว่างวันที่ 17-18 มีนาคม 2555 โดยวันจำหน่ายปลีกผู้ประกอบการได้เตรียมนำเฟอร์นิเจอร์มาจำหน่ายราคาพิเศษ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมช่วงปลายปีที่ผ่านมา คาดว่าจะมียอดจำหน่ายปลีก 93 ล้านบาท และยอดขายในวันเจรจาธุรกิจอีกประมาณ 640 ล้านบาท หรือยอดขายรวมเกือบประมาณ 1,000 ล้านบาท  
นายจิรวัฒน์ ตั้งกิจงามวงศ์ เลขาธิการสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องเรือนไทย กล่าวว่าสถานการณ์น้ำท่วมปลายปีที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้า เฟอร์นิเจอร์ เพราะลูกค้าได้ระงับคำสั่งซื้อเกือบทั้งหมดโดยยอดส่งออกลดลงร้อยละ 1.05 เมื่อเทียบกับปี 2553 หรือคิดเป็นมูลค่าหายไปประมาณ 4,000-5,000 ล้านบาท และขณะนี้ออร์เดอร์ยังไม่กลับสู่สภาพเดิม แต่ผู้ประกอบการยังโชคดีที่ยังพอมีตลาดในประเทศรองรับ เนื่องจากทุกบ้านเฟอร์นิเจอร์ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมเกือบทุกหลัง จึงจำเป็นต้องซื้อสินค้าใหม่เข้าไปทดแทน

   อย่างไรก็ดีรายได้จากการส่งออกเป็นการนำเงินตราจากต่างประเทศเข้าสู่ประเทศ ไทยเรา และยอดขายที่ได้จากการซื้อเพื่อทดแทนอันเนื่องจากเหตุการณ์น้ำท่วมไม่ควรจะ เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นจึงมีความจำเป็นทำอย่างไรจึงจะมีรายได้จากการส่งออกกลับมาสู่ สภาวะปกติ ซึ่งทางผู้ประกอบการหวังว่างานแสดงสินค้า TIFF2012 จะช่วยเพิ่มคำสั่งซื้อให้กับผู้ประกอบการและนำรายได้จากการส่งออกกลับเข้า สู่ภาวะปกติ  

   อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก กล่าวว่าสำหรับปี 2555 ได้ตั้งเป้าหมายส่งออกเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนมูลค่า 980 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  โดยวางกลยุทธ์ไว้ 7 ประการคือ 1.สร้างภาพลักษณ์การเป็นศูนย์กลางตลาดส่งออกสินค้าเฟอร์นิเจอร์ของไทยใน เอเชียผ่านงาน TIFF 2.สร้างความแตกต่างของสินค้า โดยเน้นคุณภาพ ความประณีต รูปแบบที่โดดเด่น สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของลูกค้าต่างประเทศ  3.เน้นกิจกรรมเจาะตลาดที่มีศักยภาพ ได้แก่ รัสเซีย อินเดีย สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ ซาอุดีอาระเบีย 4.หาวัตถุดิบไม้ในต่างประเทศที่ถูกกว่าใช้ทดแทนไม้ในประเทศเพื่อเป็นทาง เลือกใหม่ 5.จัดตั้งสถาบันไม้ยางพาราแห่งประเทศไทยเพื่อบริหารจัดการไม้ยางพาราทั้ง ระบบ 6.พัฒนาตราสินค้าไทยให้เป็นที่รู้จักในตลาดโลกแทนการรับจ้างผลิต 7.ใช้ประโยชน์จากการเปิดตลาดการค้าเสรีกับประเทศต่างๆให้มากที่สุด
ที่มา : http://logisticsdigest.com